คำแถลงนโยบายของ นายพรชัย โควสุรัตน์นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี แถลงต่อสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี วันอังคาร ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ.2551
เกียรติพงษ์ อุดมธนะธีระ ที่มาข้อมูลองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี 03 มิถุนายน 2551 ดาวน์โหลด==>pdf

คำแถลงนโยบาย
ของ นายพรชัย โควสุรัตน์
นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี

แถลงต่อสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี
วันอังคาร ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ.2551
……………………………

ท่านประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี ที่เคารพ

เพื่อให้การบริหารงานขององค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี ภายใต้การนำของข้าพเจ้า นายพรชัย โควสุรัตน์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพและสัมฤทธิผลตามสัญญาประชาคมที่กลุ่มคุณธรรมได้ให้ไว้ในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งที่ผ่านมา คณะผู้บริหารองค์การบริหารส่วนจังหวัดจึงกำหนดนโยบายในการบริหารไว้ในระยะ 4 ปี ข้างหน้า (พ.ศ.2551 – 2554) ดังต่อไปนี้

วิสัยทัศน์ องค์การบริหารส่วนจังหวัดเป็นองค์กรปกครองท้องถิ่น ที่ทำงานตอบสนองปัญหาของประชาชนในท้องถิ่นได้หลากหลาย โดยเฉพาะปัญหาภัยแล้ง ปัญหาด้านสุขภาพ ปัญหาความยากจน และปัญหาความไม่รู้ จะต้องได้รับการแก้ไข โดยเร่งด่วน ประชาชน ประชาสังคมและชุมชน เข้ามามีบทบาทและมีส่วนร่วมในการบริหารท้องถิ่นมากขึ้น เพื่อให้การปกครองท้องถิ่นเป็นการปกครองตนเองของประชาชน ในท้องถิ่นอย่างแท้จริง ฝ่ายบริหารและสภาท้องถิ่นร่วมกันดำเนินการพัฒนาท้องถิ่นแบบสมานฉันท์ องค์การบริหารส่วนจังหวัดเป็นศูนย์รวมแห่งการประสานงานกับท้องถิ่นอื่น ในการวางแผนพัฒนาท้องถิ่นร่วมกัน เพื่อให้การพัฒนาท้องถิ่นเป็นไปในทิศทางเดียวกันและมีการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้ประชาชนในท้องถิ่น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถเข้าถึงบริการสาธารณะได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม สังคมมีความรักสามัคคีเอื้ออาทรต่อกัน มีคุณธรรมจริยธรรม รักษาไว้ซึ่งขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่น อุบลราชธานีเป็นศูนย์กลางของการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยวในเขตอีสานใต้ และเป็นประตูสู่อินโดจีน

นโยบายในการปฏิบัติงาน การปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด จะยึดมั่น ในหลักการ ดังนี้
1. เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน
2. ใช้วิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี
3. คำนึงถึงการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ท้องถิ่น ประชาชน ชุมชนและภาคประชาสังคม

นโยบายการพัฒนาท้องถิ่น การกำหนดนโยบายพัฒนาขององค์การบริหารส่วนจังหวัด เป็นผลมาจากการสะท้อนปัญหาความต้องการของประชาชนในท้องถิ่น จากประสบการณ์การบริหารงานองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานีในระยะเวลา 4 ปี ที่ผ่านมา (พ.ศ.2547 – 2550) จึงกำหนดกรอบนโยบายการพัฒนาให้ครอบคลุมภารกิจหลัก 6 ด้าน ได้แก่

ด้านที่ 1 ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่
1.1 การคมนาคมและการขนส่ง
1.1.1 การก่อสร้างและบำรุงรักษาถนนสะพาน
1.1.1.1 ก่อสร้างและปรับปรุงผิวจราจรเป็นถนนคอนกรีต เสริมเหล็กหรือลาดยางให้การคมนาคมไปมาได้ โดยสะดวกทุกพื้นที่
1.1.1.2 จัดทำโครงข่ายทางคมนาคมให้เชื่อมโยงกันตลอด ทั้งจังหวัด และจังหวัดข้างเคียง
1.1.1.3 บำรุงรักษาถนน สะพานที่รับถ่ายโอนมาให้อยู่ใน สภาพดีและใช้ได้ทุกฤดูกาล
1.1.1.4 ก่อสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กแทนสะพานเก่า ที่ชำรุดทุกแห่ง และสร้างใหม่ให้พอเพียงกับความ ต้องการ
1.1.1.5 ประสานแผนกับท้องถิ่นอื่น (เทศบาล/อบต.) ในการพัฒนาโครงข่ายทางคมนาคมภายในจังหวัด
1.1.2 วิศวกรรมจราจรทางบก
1.1.2.1 จัดทำเครื่องหมายจราจรเพื่อความปลอดภัยในการ ใช้รถใช้ถนน
1.1.2.2 ปรับปรุงทางแยก ทางข้าม
1.1.2.3 ปรับปรุงและติดตั้งสัญญาณไฟจราจร

1.2 สถานีขนส่งผู้โดยสาร
1.2.1 ปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารจัดการ เพื่ออำนวยความ สะดวกแก่ผู้ใช้บริการและให้มีรายได้เลี้ยงตัวเองได้
1.2.2 ปรับปรุงอาคารสถานที่ภายในสถานีขนส่งผู้โดยสาร

1.3 การคมนาคมทางน้ำ
1.3.1 ดูแลรักษาทางน้ำมิให้มีสิ่งกีดขวางการสัญจรของเรือ แพ
1.3.2 สำรวจและออกแบบก่อสร้างเขื่อนกันตลิ่งพัง

1.4 การแก้ปัญหาภัยแล้ง
1.4.1 ขุดลอกห้วย หนอง คลอง บึงและแหล่งน้ำธรรมชาติ
1.4.2 ขุดคลองไส้ไก่ส่งน้ำเข้าสู่พื้นที่การเกษตร
1.4.3 สร้างชลประทานระบบท่อ
1.4.4 จัดหาเครื่องสูบน้ำให้พอเพียง
1.4.5 ส่งเสริมเกษตรกรให้ขุดสระน้ำในไร่นา
1.4.6 สร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก และฝายชะลอการไหลของน้ำ ในพื้นที่ต้นน้ำ
1.4.7 ประสานแผนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดระบบ บริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน

1.5 การจัดทำผังเมือง
1.5.1 รับถ่ายโอนภารกิจการจัดทำผังเมืองรวม
1.5.2 ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ และท้องถิ่นอื่นในการจัดทำ ผังเมืองรวม

ด้านที่ 2 ด้านการส่งเสริมคุณภาพชีวิต
2.1 ด้านการส่งเสริมอาชีพ
2.1.1 จัดฝึกอบรมและศึกษาดูงาน เพื่อเพิ่มความรู้และ ประสบการณ์ในการประกอบอาชีพเพิ่มรายได้แก่ ประชาชน
2.1.2 ส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มรายได้และจัดหา พลังงานทดแทนแก้ปัญหาวิกฤตน้ำมัน โดยการปลูกมัน สำปะหลังและปลูกปาล์มน้ำมัน
2.1.3 ส่งเสริมการเลี้ยงโค เพื่อเพิ่มทุนทางเศรษฐกิจและใช้มูล สัตว์ทำปุ๋ยอินทรีย์
2.1.4 ส่งเสริมการปลูกข้าวหอมมะลิอินทรีย์เพื่อการส่งออก
2.1.5 ส่งเสริมการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ให้พอเพียงกับความต้องการใช้ และลดการใช้ปุ๋ยเคมี
2.1.6 ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อพัฒนาอาชีพ การเกษตร
2.1.7 ส่งเสริมการปรับปรุงโครงสร้างเกษตรกรรมให้เป็นเกษตร อุตสาหกรรม
2.1.8 ส่งเสริมการสหกรณ์

2.2 ด้านการสังคมสงเคราะห์และพัฒนาคุณภาพชีวิต
2.2.1 ให้การสงเคราะห์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการ และผู้สูงอายุ
2.2.2 ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ ผู้ด้อยโอกาส คนพิการ และ ผู้สูงอายุ เพื่อให้สามารถพึ่งตนเองได้
2.2.3 ส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน คนพิการและ ผู้สูงอายุ

2.3 ด้านการศึกษา
2.3.1 รับถ่ายโอนภารกิจการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานตามนโยบาย ของรัฐ
2.3.2 สร้างโอกาสทางการศึกษาที่ดีและมีคุณภาพเท่าเทียมกัน
2.3.3 ส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างหลักสูตรการศึกษาท้องถิ่น
2.3.4 ส่งเสริมการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม
2.3.5 พัฒนาการจัดการศึกษาของโรงเรียนในสังกัดองค์การ บริหารส่วนจังหวัดในทุกๆ ด้าน
- ด้านคุณภาพของผู้เรียน
- ด้านคุณภาพของครูและผู้บริหารสถานศึกษา
- ด้านการบริหารจัดการการศึกษา
- ด้านอาคารสถานที่และวัสดุครุภัณฑ์
- ด้านการพัฒนาหลักสูตรและสื่อการเรียนการสอน
- ด้านความสัมพันธ์กับชุมชน
2.3.6 ฝึกฝนทักษะและปลูกฝังทัศนคติที่ดีในการทำงานที่เป็น พื้นฐานอาชีพให้แก่เด็กและเยาวชน
2.3.7 ส่งเสริมให้ผู้ปกครองและชุมชนมีส่วนร่วมในการจัด การศึกษา
2.3.8 ส่งเสริมการจัดการศึกษานอกระบบโรงเรียนและการศึกษา ตามอัธยาศัย โดย
2.3.8.1 ปรับปรุงการจัดการศึกษาในโรงเรียนให้เป็นศูนย์ การเรียนรู้ของชุมชน
2.3.8.2 โรงเรียนเป็นศูนย์กลางในการศึกษาหาความรู้ของ คนในชุมชน เช่น การเรียนรู้ ICT การรับทราบ ข้อมูลข่าวสาร การใช้ห้องสมุด การเล่นกีฬาออก กำลังกาย การนันทนาการ การฝึกอาชีพเพิ่มเติม ฯลฯ เป็นต้น
2.3.8.3 โรงเรียนให้บริการและร่วมมือในการจัดกิจกรรม ของชุมชน
2.3.8.4 พัฒนาสังคมชุมชนให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้
2.3.9 ส่งเสริมการจัดการศึกษาให้เด็ก เยาวชน และประชาชน มีความรู้คู่คุณธรรม มีเอกลักษณ์และค่านิยมความเป็นไทย เห็นคุณค่าและอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น และดำเนินชีวิต ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
2.3.10 สร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม
2.3.11 ส่งเสริมการจัดการศึกษาอาชีวศึกษาในระดับ ปวช. หรือ หลักสูตรระยะสั้น
2.3.12 ส่งเสริมการกีฬา นันทนาการ กิจกรรมเด็ก เยาวชน และประชาชน
2.3.13 จัดตั้งศูนย์เยาวชนภายในสนามกีฬากลาง (ทุ่งบูรพา)
2.3.14 จัดตั้งโรงเรียนขึ้นใหม่ 1 แห่ง เพื่อใช้สนามกีฬากลาง (ทุ่งบูรพา) ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
2.3.15 พัฒนาสนามกีฬากลาง (ทุ่งบูรพา) ให้เป็นสนามกีฬา ระดับนานาชาติ เพื่อรองรับการแข่งขันกีฬากลุ่มประเทศ อินโดจีน

2.4 ด้านการสาธารณสุข
2.4.1 การสร้างเสริมสุขภาพการป้องกันโรคและการ รักษาพยาบาลเบื้องต้น
2.4.2 การจัดรถพยาบาลฉุกเฉิน 1669 ร่วมกับสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และท้องถิ่นอื่น เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการแพทย์อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน

ด้านที่ 3 การจัดระเบียบชุมชน สังคมและการรักษาความสงบเรียบร้อย
3.1 การคุ้มครองผู้บริโภค โดยร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน
3.2 การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
3.3 การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด
3.4 การป้องกันและแก้ไขปัญหาการจราจรและลดอุบัติเหตุ
3.5 การรักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยในชีวิตและ ทรัพย์สิน

ด้านที่ 4 ด้านการวางแผนการส่งเสริมการลงทุน พาณิชยกรรมและการท่องเที่ยว
4.1 การวางแผนส่งเสริมการลงทุน
4.2 การวางแผนพัฒนาอุตสาหกรรม
4.3 การส่งเสริมการผลิตสินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) และการผลิตสินค้าพื้นเมือง
4.4 การจัดทำแผนการตลาดและการจัดให้มีศูนย์แสดงและจำหน่าย สินค้า OTOP
4.5 การจัดตั้งตลาดกลางสินค้าการเกษตรและผลิตภัณฑ์พื้นเมือง
4.6 การส่งเสริมการท่องเที่ยว
4.7 การจัดตั้งพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมท้องถิ่นเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว
4.8 การจัดตั้งพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำจืด
4.9 การสร้างแหล่งท่องเที่ยวเพิ่มเติมเพื่อจูงใจนักท่องเที่ยว
4.10 การเปิดประตูการค้าสู่อินโดจีน

ด้านที่ 5 การบริหารจัดการและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม
5.1 การคุ้มครองดูแลและบำรุงรักษาป่า
5.2 การอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
5.3 การคุ้มครองดูแลและบำรุงรักษาที่สาธารณะ
5.4 การจัดทำประโยชน์และบริหารจัดการที่สาธารณะ
5.5 การสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม

ด้านที่ 6 ด้านศิลปวัฒนธรรม จารีตประเพณี และภูมิปัญญาท้องถิ่น
6.1 การคุ้มครองดูแลบำรุงรักษาโบราณสถาน โบราณวัตถุ
6.2 การส่งเสริมฟื้นฟูวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น
6.3 การส่งเสริมการศึกษาวิจัยและรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับ ศิลปวัฒนธรรม จารีตประเพณีและภูมิปัญญาท้องถิ่น
6.4 ส่งเสริมการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการแก้ไขปัญหาความต้องการของประชาชน
6.5 จัดตั้งพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมท้องถิ่น
6.6 สนับสนุนการจัดงานแห่เทียนพรรษาให้เป็นงานประเพณี สำคัญของจังหวัดอุบลราชธานีตลอดไป
6.7 ส่งเสริมงานประเพณีท้องถิ่นตาม “ฮีดสิบสอง ครองสิบสี่” เพื่อสร้างค่านิยมของความเป็นท้องถิ่นอีสาน
6.8 ส่งเสริมการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาจิตใจตามแนวทางของพุทธ ศาสนาให้แก่เยาวชน ประชาชนทุกเพศทุกวัย เพื่อสร้าง “สังคมสันติสุข”

นโยบายในการบริหารจัดการองค์กร
เพื่อสนับสนุนนโยบายในการพัฒนาท้องถิ่นให้ประสบความสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นจะต้องพัฒนาองค์กรให้มีศักยภาพที่จะรองรับนโยบายไปปฏิบัติให้เกิดผลสำเร็จตามเป้าหมายอย่างมีคุณภาพ จึงกำหนดนโยบายการบริหารจัดการไว้ดังนี้
1. นโยบายด้านบุคลากร
1.1 จัดให้มีบุคลากรครบตามตำแหน่ง
1.2 พัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ ความสามารถ เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่โดยการฝึกอบรมหรือเข้าศึกษาต่อ
1.3 ส่งเสริมให้บุคลากรมีความเจริญก้าวหน้าตามตำแหน่งหน้าที่และความรู้ความสามารถ
1.4 สร้างระเบียบวินัยและวัฒนธรรมในองค์กรให้ทุกคนยึดถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด
1.5 บริหารงานบุคลากรโดยใช้ระบบคุณธรรม(Merit System) ผู้ทำความดีมีผลงานเป็นที่ประจักษ์จะได้รับรางวัล ผู้กระทำผิดหรือบกพร่องในหน้าที่จะได้รับการลงโทษ

2. ด้านการเงินการคลัง
2.1 จะปรับปรุงระบบการจัดเก็บรายได้ให้เพิ่มมากขึ้น ภายใต้ ระเบียบกฎหมายกำหนดไว้
2.2 จะร่วมมือกับสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดเสนอให้รัฐบาลกระจายอำนาจทางการคลังให้ท้องถิ่นเพิ่มขึ้น เพื่อให้ท้องถิ่นมีรายได้พอเพียงและพึ่งตนเองได้
2.3 จะรักษาและเสริมสร้างวินัยทางการคลัง โดยใช้จ่าย งบประมาณ อย่างประหยัด คุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน

3. ด้านการบริหารจัดการ
3.1 จะกระจายอำนาจการบริหารและการตัดสินใจให้แก่ผู้บริหาร ในระดับรองลงไปตามลำดับและตามความเหมาะสม เพื่อให้ การปฏิบัติงานเกิดความสะดวก รวดเร็วและลดขั้นตอน
3.2 จะนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) เข้ามาช่วยในการ บริหารจัดการเพื่อให้เกิดความสะดวกรวดเร็ว แม่นยำ ทันเหตุการณ์
3.3 จะเพิ่มขีดความสามารถของคณะผู้บริหารและสมาชิกสภา องค์การบริหารส่วนจังหวัด โดยการสนับสนุนให้ทุกคนได้ เข้าฝึกอบรมหรือศึกษาต่อตามโครงการที่กรมส่งเสริมการ ปกครองท้องถิ่นจัดขึ้น หรือจัดทัศนศึกษาดูงานเพื่อนำ ประสบการณ์มาใช้ประโยชน์ในการบริหารท้องถิ่น
3.4 จะส่งเสริมให้ประชาชนในท้องถิ่นให้เข้ามามีส่วนร่วมในการ จัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่น ร่วมเสนอ โครงการ มีบทบาทในการร่วมตัดสินใจ การกำกับดูแล และการตรวจสอบตามหลักการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี
3.5 จะพัฒนาคุณภาพการจัดบริการสาธารณะขององค์การบริหาร ส่วนจังหวัดได้มาตรฐานตามที่องค์กรกลางกำหนด (กระทรวงมหาดไทย/คณะกรรมการกระจายอำนาจ)
3.6 จะแสวงหาความร่วมมือในการพัฒนาท้องถิ่นจากทุกภาค ส่วน

ท่านประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด ที่เคารพ
กระผมและคณะผู้บริหารมีความเชื่อมั่นว่านโยบายที่ได้ร่วมกันกำหนดขึ้น จะสามารถตอบสนองปัญหาความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นได้หลากหลาย โดยเฉพาะปัญหาที่สำคัญเร่งด่วน คือ การแก้ปัญหาความยากจน ปัญหาภัยแล้ง ปัญหาด้านสุขภาพ และปัญหาด้านการศึกษา จะได้รับการแก้ไขภายใน 4 ปี การดำเนินการทุกอย่างขององค์การบริหารส่วนจังหวัดจะมีคุณภาพได้มาตรฐาน การบริหารจัดการจะเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล มีความโปร่งใส มีประสิทธิภาพและรับผิดชอบต่อประชาชนเพิ่มขึ้น รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชน ภาคประชาสังคมและชุมชนมีส่วนร่วมในการดำเนินการต่างๆ และร่วมตรวจสอบติดตามประเมินผลและสุดท้ายประชาชนชาวจังหวัดอุบลราชธานี จะได้รับผลจากการพัฒนาและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นโดยถ้วนหน้า กระผมขอรับรองว่าคณะผู้บริหารทุกคนมีความจริงใจ สุจริตใจ มีความตั้งใจมุ่งมั่นที่จะร่วมกันทำงานเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน

ด้วยความเคารพท่านประธาน


( นายพรชัย โควสุรัตน์ )
นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี

[กลับไปหน้าก่อนหน้านี้]